PTT Group Sharings
06 พฤศจิกายน 2564

แบรนด์รักษ์โลก ยั่งยืนอย่างมีสไตล์

เมื่อวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์นำพาความต้องการในการบริโภคทรัพยากรให้เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ การพึ่งพิงธรรมชาติจากมนุษย์ก็กลับกลายเป็นการเบียดเบียนและทำลายสมดุลของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ และผลจากการกระทำนั้นเริ่มส่งผลกลับคืนมาสู่มนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม

มนุษย์จึงเริ่มตระหนักถึงการใช้และบริหารทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยลง ใส่ใจในความยั่งยืนมากขึ้น จนเกิดเทรนด์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แสดงความรับผิดชอบและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย จนมาถึงวงการแฟชั่น มีการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล และไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ที่เป็นตัวทดลอง

แบรนด์แรกที่หลายคนอาจนึกถึง ก็คือ FREITAG แบรนด์รักษ์โลกสุดโด่งดังจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ขายมายาวนานถึง 25 ปี นำผ้าใบกันน้ำของรถบรรทุกที่มีผ่านอายุการใช้งานระหว่าง 5-8 ปี, เข็มขัดนิรภัยเก่า และยางในของล้อจักรยานนำมาทำเป็นกระเป๋าที่มีลวดลายสีสันสไตล์คลาสสิก-วินเทจ เรียกว่ากระเป๋าทุกใบจะมีใบเดียวในโลกไม่มีซ้ำ และด้วยเอกลักษณ์โดดเด่นนี้เองกลายเป็นจุดขายของแบรนด์ที่ทำให้คนหลากหลายประเทศโดยเฉพาะฝั่งยุโรปและยังรวมถึงประเทศไทยเราเองด้วยได้ให้ความสนใจและคว้ามาเป็นเจ้าของกันมากมาย ซึ่งปัจจุบันกระเป๋าจาก FREITAG ได้ช่วยให้เกิดการ Upcycling ผ้าใบรถบรรทุกเก่ามากกว่าปีละ 300 ตัน

แบรนด์ต่อไป คือ TOMS ที่โด่งดังมาจากการผลิตรองเท้าตั้งแต่ปี 2007 จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งแบรนด์ระดับโลกที่ใช้มาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรองเท้าทั้งหมดจะถูกสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุเพียงแค่ 4 ชนิด ได้แก่ ผ้าใบ, ยาง, สีย้อม และหนังกลับหมู ซึ่งเจ้าของแบรนด์ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ได้ไปพบเห็นเด็กยากจนในถิ่นทุรกันดารที่ไม่มีรองเท้าใส่ ทำให้เขาเริ่มเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรที่ผลิตรองเท้าแจกให้กับเด็กๆ ต่อมาเขาขายกิจการเก่าทิ้งเพื่อนำเงินมาสร้างบริษัททำรองเท้าของตัวเอง ซึ่งรายได้ที่ทางแบรนด์ได้รับหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ถูกนำไปเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับเด็กผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และคนตาบอดอีกนับไม่ถ้วน

มาถึงแบรนด์สุดท้าย ได้แก่ ECOALF เป็นแบรนด์แฟชั่นจากประเทศสเปน นำการสร้างสรรค์แบบยั่งยืนด้วยการนำขยะจากท้องทะเลมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใย แล้วนำมา Upcycling เป็นสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า, กระเป๋า และรองเท้า จนเกิดเทรนด์คำว่า Trashion (Trash + Fashion) ซึ่งทางเจ้าของแบรนด์ได้มีการร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อเข้ามาดำเนินโครงการ “ Upcycling the Oceans” ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 โดยการนำขยะจากท้องทะเลไทยมาเป็นวัสดุในการสร้างผลิตภัณฑ์แฟชั่น ตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แบบเต็มๆ

ปัญหาขยะล้นโลกไม่ได้เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่งหรือแก้ไขได้ด้วยคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่ทุกคนบนโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งวิธีการนั้นมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลือกใช้วิธีไหน ที่ไม่เพียงแค่โลกใบนี้ที่ได้ประโยชน์ หากแต่ธุรกิจของคุณเอง ก็ได้ประโยชน์ไปไม่ต่างกัน

ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นหนึ่งในตัวอย่างวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะ ที่ไม่เพียงจะมีส่วนช่วยโลกเท่านั้น หากแต่สร้างประโยชน์ในแง่ธุรกิจได้ด้วย จากประกายเล็กๆ ของใครบางคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม พัฒนาแนวทางจนเป็นรูปแบบธุรกิจที่ส่งผ่านปณิธานด้านสิ่งแวดล้อมไปในวงกว้าง ตอกย้ำว่าปัญหาขยะล้นโลกไม่ได้เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่งหรือแก้ไขได้ด้วยคนคนเดียว หากแต่เป็นปัญหาที่ทุกคนบนโลกต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง

อ้างอิง
https://shortrecap.co/green-space/freitag-กระเป๋ารักษ์โลก-ที่ได้
https://undubzapp.com/16-ข้อควรรู้-กระเป๋าfreitag
https://danandmez.com/blog/sustainable-clothing-brands
https://www.thaitextile.org/th/insign
https://www.creativecitizen.com/ecoalf

หัวข้อที่น่าสนใจ