PTT Group Sharings
10 พฤศจิกายน 2564

Fast Fashion มาไว ไปไว ซื้อง่าย หน่ายเร็ว

Fast Fashion เป็นกระแสหนึ่งของวงการแฟชั่น ที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์อย่างรวดเร็ว มาไวไปไว ซื้อง่ายราคาสบายกระเป๋า สอดคล้องกับรายงานฉบับหนึ่งขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Greenpeace ระบุว่าพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน เน้นการซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับเพื่อถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ใส่ไม่กี่ครั้งแล้วก็ทิ้ง นอกจากนี้ความสะดวกในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และโปรโมชั่นต่างๆ ที่ล่อตาล่อใจทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น อีกทั้งแบรนด์ Fast Fashion หลายๆ แบรนด์มีกลยุทธ์การตลาดแบบ Over Demand ที่เน้นชักจูงให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าใหม่บ่อยๆ ตามเทรนด์ จนทำให้เกิดสภาวะ การบริโภคเกินความจำเป็น (Overconsumption)

นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากของชนชั้นกลางในประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Fast Fashion เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่วงจรของแฟชั่นจะผลิตเสื้อผ้าตามฤดูกาล 2 รอบต่อปี แต่เมื่อต้องผลิตให้ทันตามกระแส วงรอบการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50-100 รอบต่อปี

กระบวนการการทำร้ายโลกด้วยแฟชั่น เริ่มจากขั้นตอนการผลิตในอุตสาหกรรม Fast Fashion จะผลิตเสื้อผ้าในปริมาณมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่การผลิตเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ เช่น ใยฝ้ายเทียม และโพลีเอสเตอร์ วัตถุดิบยอดนิยมราคาถูก ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเสื้อผ้าในปัจจุบันมากกว่า 60% การผลิตเส้นใยเทียมเหล่านี้ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าฝ้าย 2 เท่า และน้ำปริมาณมหาศาลจากการผลิตนี้จะนำพาสารปนเปื้อนมากกว่า 3,500 ชนิดลงสู่แหล่งน้ำ ส่วนเส้นใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้าจะหลุดออกทุกๆครั้งเราที่ทำการซักทำให้เกิดปัญหา Micro Plastic ตามมา

และถึงแม้ว่าจะมีการใช้เส้นใยจากฝ้ายเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่การปลูกฝ้ายนั้น ก็ต้องใช้ที่ดินและน้ำเป็นจำนวนมากโดยการผลิตเสื้อผ้า 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำมากถึง 10,000-20,00 ลิตร ส่วนที่ดินที่ใช้ทำไร่ฝ้ายจะมีการปนเปื้อนจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลงทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดและแห้งแล้ง

กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้อายุการใช้งานของเสื้อผ้าสั้นลง เกิดการใช้ทรัพยากรปริมาณมหาศาลเกินความจำเป็น เสื้อผ้าเหลือใช้ที่ไม่ได้ถูกขายต่อหรือนำไปรีไซเคิล จะถูกส่งไปยังเครื่องคัดแยกทั่วโลก แต่ถึงจะพยายามมากเท่าไหร่ ในทุกๆปีจะมีเสื้อผ้านับล้านๆ ตันถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ หรือเผากำจัดทั้งๆ ที่บางตัวยังไม่ผ่านการใช้งานด้วยซ้ำไป

การบริจาคก็อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา หลายๆคนเลือกที่จะระบายเสื้อผ้าเก่าด้วยการบริจาค ผ่านกลุ่ม,องค์กร ที่รับบริจาคเสื้อผ้าเหลือใช้เพื่อมอบให้คนที่ขาดแคลน แต่นั่นก็ยังไม่สมดุลกับปริมาณเสื้อผ้าที่ถูกผลิตออกมา องค์กรที่ดูแลคนไร้บ้านในวอชิงตันดีซี ถึงกับออกประกาศว่ามีปริมาณเสื้อผ้าเกินความต้องการและไม่สามารถรับบริจาคได้อีกแล้ว และหนำซ้ำในบางพื้นที่ เช่น ทวีปแอฟริกา เสื้อผ้าที่ถูกบริจาคไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะด้วยคุณภาพต่ำของเสื้อผ้า Fast Fashion เหลือใช้ จะถูกนำไปแปรสภาพเป็นเศษผ้าสำหรับร้านยานยนต์ ซึ่งเกิดประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้นการรีไซเคิลจึงเป็นหนึ่งในความหวังของ Sustainable Fashion โดยเราสามารถนำเส้นใย หรือพลาสติกมารีไซเคิลได้ อย่างเช่นโครงการ Upcycling ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ดำเนินโครงการคัดแยกขยะพลาสติกจากเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง นำมาแปรรูปเป็นเส้นใยและเส้นด้วย ก่อนจะเนรมิตเสื้อผ้าแฟชั่นจากขยะพลาสติกกว่า 20 ตัน นอกจากนี้ยังมีการผลิตชุด PPE เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในช่วงโควิดอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามอัตราส่วนในการรีไซเคิลต่อปริมาณเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง เพราะต้องผ่านกระบวนการมากมาย และยังมีต้นทุนทางการผลิต หนึ่งทางง่ายๆ ที่เราสามารถช่วยโลกได้ คือการใช้ซ้ำ (Reuse) เสื้อผ้าที่มีอยู่เพื่อยืดอายุการใช้งาน และยืดวงจรเวลาของ Fast Fashion ออก ซึ่งเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนได้ เพียงเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อ้างอิง
https://wayback.archive-it.org
https://www.greenpeace.org
https://www.greenpeace.org
https://www.bangkokbiznews.com
https://www.pttplc.com

หัวข้อที่น่าสนใจ