PTT Group Sharings
10 มกราคม 2565

“พลาสติก” กับความมั่นคงทางสาธารณสุขไทย

หากไม่นับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว “พลาสติก” คือวัสดุมหัศจรรย์ที่มีคุณสมบัติหลากหลาย สามารถทำให้แข็งแกร่งหรืออ่อนนุ่มก็ได้ สามารถขึ้นรูปได้ตามต้องการ น้ำหนักเบา มีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายเมื่อสัมผัสกับเนื้อเยื่อน้อย (Biocompatibility) ป้องกันการซึมผ่านของของเหลวได้ ทนต่อสารเคมี สามารถทำให้ปลอดเชื้อได้ ทั้งยังมีราคาถูก คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้พลาสติกถูกนำมาใช้สร้างเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์หลากหลายอย่าง เช่น ถุงใส่เลือด ถุงน้ำเกลือ สายสวนหลอดเลือด เครื่องช่วยฟัง ข้อต่อเทียม ชิ้นส่วนกะโหลกเทียม เลนส์ตาเทียม อุปกรณ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อยู่ภายในสะอาดปลอดเชื้อก่อนการใช้งาน

ในช่วงต้นปี 2563 หลังเริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2563 มีความ ต้องการใช้หน้ากากอนามัยสูงขึ้นถึงเกือบ 7 เท่าตัว โดยความต้องการใช้ก่อนโควิด-19 ระบาดคือ 1 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ในเดือนมีนาคมหลังจากมีการระบาดได้ 3 เดือน มีความต้องการใช้หน้ากากอนามัย 6.75 ล้านชิ้นต่อวัน แม้ว่าจะมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ถึง 11 แห่งในประเทศ แต่มีกำลังการผลิต 1.35 ล้านชิ้นต่อวัน รวมทั้งประเทศจีนงดการส่งออกหน้ากากอนามัย ที่ปกติแล้วจะมียอดนำเข้าประเทศไทยประมาณ 6.6แสนชิ้นต่อวัน ทำให้เกิดสภาวะขาดแคลน มีการโก่งราคาและกักตุนสินค้า มีการลักลอบนำหน้ากากอนามัยใช้แล้วมาจำหน่ายใหม่ มีการหลอกขายหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานตามโฆษณา สถานพยาบาลมีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่พอใช้งาน ต้องออกมาขอรับบริจาค หรือนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไปฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีแล้วใช้ซ้ำ (ซึ่งปกติใช้แล้วควรทิ้ง)

แม้ว่าภายหลังในเดือนกรกฎาคม 2563 จะมีการตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจนมีอัตราการผลิตอยู่ที่ประมาณ 4.2 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ประเทศไทยก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลาสติกชนิดเมลท์โบลน (Polypropolene Meltblown/ PP Meltblown) ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นผ้าที่มีเส้นใยเล็กละเอียดระดับไมโครเมตร เพื่อนำมาใช้ทำหน้ากากอนามัยชั้นกลางที่หน้าที่กรองเชื้อโรคและอนุภาคขนาดเล็ก เช่น PM2.5 และใช้ทำชุดป้องกันการติดเชื้อหรือ PPE ในช่วงที่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างประเทศจีนลดการส่งออกเม็ดพลาสติกชนิดนี้ ส่งผลต่อต้นทุนและอัตราการผลิตหน้ากากอนามัยและชุด PPE ในประเทศไทย

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก PP Meltblown ได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 4 ปีพ.ศ. 2564 นี้ หากลดการนำเข้าเม็ดพลาสติก PP Meltblownได้ ก็จะเสริมความมั่นคงด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ ลดโอกาสขาดแคลนอุปกรณ์ให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของไทย

นอกจากนี้ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ยังได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิ ราช จัดตั้งบริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม เพื่อดำเนินกิจการทดสอบคุณภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจรเป็นแห่งแรกในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานด้านต่างๆ ก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายได้ เช่น หน้ากากอนามัยต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อโรคและอนุภาค การป้องกันการซึมผ่านของเหลว ความต้านทานการหายใจ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานรับรองคุณภาพอุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ในไทยมีจำนวนน้อย และไม่ครอบคลุมทุกการทดสอบในที่เดียว ผู้ผลิตต้องส่งตัวอย่างสินค้าไปทดสอบหลายที่จึงใช้เวลานานกว่าจะพร้อมจัดจำหน่าย หรือต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศการมีหน่วยงานที่สามารถให้บริการทดสอบคุณภาพแบบครบวงจรในประเทศอย่างบริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม ช่วยให้กระบวนการผลิตจนถึงจัดจำหน่ายของอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยเป็นไปได้อย่างราบรื่น และช่วยสร้างรากฐานความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับคนในประเทศอีกด้วย

อ้างอิง
https://thaiplastics.org
https://thisisplastics.com
https://news.thaipbs.or.th
https://www.bbc.com
https://www.thairath.co.th
https://www.bbc.com
https://www.thairath.co.th
https://www.settrade.com
https://www.bangkokbiznews.com
https://www.bangkokbiznews.com

หัวข้อที่น่าสนใจ