ปฏิรูปพลังงาน กับ PDP 2022
PDP ย่อมาจาก Power Development Plan หรือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้มีการจัดตั้ง PDP ของประเทศไทยขึ้น โดยเป็นแผนในระยะยาวประมาณ 15 - 20 ปี ซึ่งจะเป็นการกำหนดแผนการพัฒนาการผลิต การวางแผนในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสม และการบริหารในการกระจายใช้เชื้อเพลิงอย่างสมดุลในระยะยาวของประเทศ
การจัดทำ PDP นั้นมีความสำคัญต่อการปฏิรูปพลังงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความต้องการในการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และมีเทคโนโลยี หรือ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวงการพลังงานถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวงการพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อแผน PDP ที่ได้ถูกจัดวางเอาไว้ก่อนหน้านี้ ถึงแม้การวางแผน PDP จะเป็นการวางแผนพัฒนาระยะยาวเผื่ออนาคตแล้วก็ตาม ดังนั้นในบางครั้งจึงต้องมีการวิเคราะห์ และปรับเปลี่ยนแผนอยู่ตลอด เพื่อให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนแผนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับแผนพลังงานของประเทศไทย
สำหรับแผน PDP ในปัจจุบันเรียกว่า PDP 2022 ซึ่งได้มีมติจากคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งแผนพลังงานแห่งชาตินี้จะรวม 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งแผน PDP 2022 นี้จะผลักดันการพัฒนาพลังงานสะอาดในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ วางแผนสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น ผลักดันการผลิตเม็ดพลาสติก เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และน้ำมันปาล์ม มีแผนการพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับปรุงระบบและโครงสร้างของอาคาร หรือ สถานที่ราชการต่างๆ ให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหากสามารถทำได้ จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปถึงหลายพันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว รวมไปถึงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ เช่น กรณีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา
ในปัจจุบันบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบแผนการบริหารจัดการพลังงาน โดยได้มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยใช้กลยุทธ์ 4S ในแผนการบริหารและจัดการพลังงาน ซึ่งแผน 4S ประกอบด้วย
S1: Strengthen and Expand the Core คือ การสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตที่มีเสถียรภาพ
S2: Scale–up Green Energy การเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด
S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต รวมถึงการต่อยอดธุรกิจเชิงนวัตกรรม
S4: Shift to Customer – Centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค รวมถึงเสนอโซลูชั่นที่สามารถบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
ซึ่งทาง GPSC ได้มีการปรับแผนกลยุทธ์ 4S เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานแห่งชาติฉบับล่าสุด และสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงาน รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาดให้มีสัดส่วนมากกว่า 50% จากกำลังการผลิตรวมของบริษัทในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งยังมีการพัฒนานวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยเทคโนโลยีเซมิโซลิด (Semi Solid) เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ GPSC ได้กลายเป็นหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนวงการพลังงานของประเทศไทย
อ้างอิง
http://www.eppo.go.th
https://www.prachachat.net
https://re-fti.org
https://www.energynewscenter.com
https://www.gpscgroup.com