PTT Group Sharings
18 มกราคม 2565

ตามโลกให้ทันหลังเปิดประเทศ

เป็นเวลาเกือบสองปีเต็มที่สถานการณ์โรคระบาดของไวรัส COVID 19 ทำให้ประเทศไทยต้องหยุดการต้อนรับชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะมีความถดถอยลงเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในโลก อย่างไรก็ตามถึงแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่ว ๆ ไปจะมีปริมาณลดน้อยลงแต่ก็ไม่ได้หยุดนิ่งไปทั้งหมด ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้องค์กรต่าง ๆ ก็มีการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงและแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะสร้างหรือพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตมากมาย

สำหรับทศวรรษที่กำลังมาถึงนี้ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง McKinsey ได้วิเคราะห์ไว้ว่าประเทศจีนยังคงจะเป็นเครื่องจักรอันทรงพลังในการกำหนดเทรนด์ของธุรกิจต่าง ๆ ในโลกต่อไปเนื่องจากขนาดของตลาดที่ใหญ่และเอกภาพของการกำหนดนโยบาย ความเข้าใจในเศรษฐกิจของจีนเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะเข้าใจแนวโน้มในอนาคตของโลก

หนึ่งในเทรนด์ของผู้บริโภคที่สำคัญมากในประเทศจีนขณะนี้คือ Live Shopping หรือการไลฟ์ขายของซึ่งมีการเติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่าต่อปีโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนมองว่าเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งและยังสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคกระโดดข้ามจากขั้นการรับรู้ (Awareness) ไปสู่ขั้นการตกลงซื้อ (Purchase) ได้อย่างรวดเร็ว หากพิจารณาการเติบโตของเทรนด์ดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่มารองรับการขายสินค้าในลักษณะนี้หรือที่เรียกว่า SaaS (System as a Service) ซึ่งก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเช่นกันไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยตนเอง การประชุมทางวิดีโอ การสั่งอาหารหรือบริการขนส่ง ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าในตลาดมากแม้จะมีสถานการณ์โรคระบาดอย่างช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากหน่วยงานรัฐสามารถสนับสนุนการสร้างระบบเหล่านี้ได้ดีก็จะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตได้มากขึ้น

การมีระบบซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจะทำให้ผู้ซื้อมีตัวเลือกมากขึ้นและทำให้เกิดการแข่งขันใน ตลาดได้มาก เช่นการซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจากผู้ผลิตโดยตรง ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่ยึดในหลักการค้าโดยชอบธรรม (Fair Trade) หรือผลิตภัณฑ์ที่มี Carbon Footprint ต่ำ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญและสามารถสังเกตเห็นได้จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจำนวนมากที่ออกสู่ตลาดในทศวรรษที่ผ่านมา โดยสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป (Disrupt) ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมากที่สุดน่าจะเป็นเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าซึ่งจะมีผลกับธุรกิจทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ และการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้น่าจะพัฒนาไปพร้อม ๆ กับโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้า

นอกจากนี้เทคโนโลยีโลกเสมือนอย่าง VR หรือ AR และ เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบห่วงโซ่ (Blockchain) ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเนื่องจากจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญเพื่อรองรับเทรนด์ใน Metaverse (ที่เพิ่งได้ชื่อภาษาไทยจากราชบัณฑิตยสภาว่า จักรวาลนฤมิตร) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมาเทคโนโลยีบล็อกเชนมีอัตราการยอมรับนวัตกรรมมาใช้ (Adoption Rate) สูงขึ้นถึง 8.8 เท่าซึ่งถือเป็นการกระจายด้วยอัตราสูงกว่าที่เคย โดยธุรกิจใหญ่ ๆ ในประเทศไทยก็มีการตอบรับเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้วหลายเจ้า ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ระดับสกุลเงิน Cryptocurrency เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม

ในช่วงไม่กี่ปีจากนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ธุรกิจต่างๆ และประเทศทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยซึ่งกำลังต้องการรายได้เพื่อมาชดเชยส่วนแบ่งการตลาดด้านการท่องเที่ยวที่หดหายไปอย่างมหาศาลจากทั้งสถานการณ์การเมืองและโรคระบาดในประเทศ และนโยบายด้านการเดินทางของประเทศจีนด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้คนในแวดวงธุรกิจที่จะต้องปรับตัวเท่านั้น การตื่นรู้ของคนในทุกภาคส่วน และทุกอุตสาหกรรมจึงจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่ศตวรรษใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้

อ้างอิง
https://blog.chainalysis.com
https://www.mckinsey.com
https://www.mckinsey.com/business-functions
https://onepiecework.medium.com
https://dragontrail.com
https://www.mckinsey.com/industries

หัวข้อที่น่าสนใจ