PTT Group Sharings
26 มกราคม 2565

โควิดส่งผลต่อการศึกษาไทยอย่างไร

กิจกรรมการศึกษานับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกแรงกระเพื่อมของการระบาดของโรค COVID0-19 มากที่สุด เนื่องจากผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอายุน้อยมักไม่แสดงอาการทำให้ตรวจพบได้ยาก เมื่อรวมกับความหนาแน่นของประชากรในโรงเรียนจะยิ่งเร่งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมหาศาล ด้วยเหตุนี้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจึงเป็นสถานที่แรก ๆ ที่ถูกสั่งให้ปิดทำการ (ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 20) เพื่อควบคุมการระบาด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรงเรียนจะหยุด แต่หมุดหมายทางการศึกษาในชีวิตของนักเรียนนั้นแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ในช่วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมานี้ระบบการศึกษาสามัญยังคงต้องผลิตนักเรียนจำนวนเกือบ 1.2 แสนคนต่อปีออกสู่สังคม (สถิติการศึกษา โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ความคาดหวังดังกล่าวทำให้ทั้งโรงเรียนและฝ่ายครอบครัวของนักเรียนต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางที่เหมาะสมเพื่อทำการเรียนการสอนต่อไปโดยคงคุณภาพของการศึกษาไว้ให้ได้มากที่สุด หนึ่งในมาตรการที่เกิดขึ้นแทบจะในทันทีนั้นก็คือมาตรการเรียนออนไลน์ ซึ่งแม้จะฟังดูเรียบง่ายแต่ก็มีต้นทุนมากมายแฝงอยู่

ต้นทุนที่เป็นรูปธรรมที่สุดย่อมหนีไม่พ้นวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ อย่างน้อยที่สุดที่บ้านของนักเรียนก็ต้องมีโทรทัศน์ในระบบดาวเทียมเพื่อรับการศึกษาทางโทรทัศน์หรือสมาร์ตโฟน หรือถ้าจะให้ดีก็ควรมีคอมพิวเตอร์หรือ Tablet PC เพื่อการศึกษา ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีส่วนเป็นอย่างมากในการกีดกันประชากรส่วนหนึ่งจากการเข้าถึงอุปกรณ์อันสำคัญขึ้นอย่างเฉียบพลันเหล่านี้ (จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2561 พบว่าประชาชนเพียง 69.6% เท่านั้นที่มีสมาร์ตโฟน และเพียง 28.3% เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ – ยังไม่นับว่าตัวเลขทางสถิติเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนถึงการกระจายตามช่วงอายุ และประชากรที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มักจะอยู่ในวัยทำงาน) และยังไม่นับว่าการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงอย่างการเรียนการสอนนั้นทั้งครูและนักเรียน (และในบางกรณี – ผู้ปกครอง) ต้องเรียนรู้การใช้งานซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระมากขึ้นให้กับทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งอาจมีภาระที่ล้นมืออยู่แล้วในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงอย่างกะทันหันเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น

อินเทอร์เน็ตก็เป็นอีกปัจจัยที่กลายเป็นทรัพยากรอันสำคัญขึ้นอย่างเฉียบพลันด้วย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 ยังระบุว่าประชากรไทยเพียง 56.8% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ (ยังไม่มีข้อมูลใหม่กว่านี้) อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ให้บริการเครือข่ายเห็นถึงความจำเป็นและโอกาสจึงมีการ “ออกโปรโมชั่น” เพื่อการศึกษา รวมถึงผู้พัฒนาก็ได้จัดทำแอปพลิเคชันและสื่อการเรียนต่าง ๆ สำหรับการศึกษานอกโรงเรียนเป็นจำนวนมากอีกด้วย และจากโครงสร้างพื้นฐานในระบบการศึกษาที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นนี้ เราอาจสรุปได้อย่างกว้าง ๆ ว่าในอนาคตหากประชากรสามารถเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้มากขึ้นก็จะสามารถเข้าถึงสื่อการศึกษาต่าง ๆ เพื่อการศึกษาในสายสามัญได้มากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนออนไลน์ย่อมเป็นการจำกัดกิจกรรมที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะวิชาที่ต้องใช้ทักษะทางกายภาพรวมถึงวิชาในห้องทดลองต่าง ๆ ที่ผู้เรียนต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเช่นวิทยาศาสตร์ภาคปฏิบัติ งานช่าง งานฝีมือ หรือพลศึกษาเป็นต้น และนอกจากนั้นการเรียนจากที่บ้านยังทำให้นักเรียนไม่มีโอกาสไปใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่โรงเรียนมีให้อีกด้วย ซึ่งข้อจำกัดทั้งสองอย่างนี้มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อทัศนคติที่ผู้ปกครองมีต่อหลักสูตรที่โรงเรียนกำหนดขึ้น

กิจกรรมหลายอย่างที่มีขึ้นเพื่อทดแทนวิชาที่ถูกจำกัดนั้นทำให้เกิดภาระซึ่งทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนบางส่วนตั้งข้อสงสัยว่าการเรียนการสอนในวิชานั้น ๆ มีความสมเหตุสมผลอยู่หรือไม่ และในบางกรณีก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการเรียนการสอนในวิชานั้น ๆ ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่เนื่องจากภาวะความ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เมื่อเทียบกับทั้งเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้ไปกับหลักสูตรที่เกินความจำเป็นเหล่านั้น

ในขณะที่หลักสูตรบางอย่างถูกมองว่าเป็นส่วนเกิน สิ่งที่ขาดหายไปอย่างการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนเช่นห้องสมุด บุคลากรที่ช่วยดูแลนักเรียน และสถานที่สำหรับการศึกษาเป็นกลุ่มยังทำให้ผู้ปกครองบางส่วนมองว่าการศึกษาในโรงเรียนอาจไม่คุ้มค่าอีกต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนนานาชาติที่มีการเก็บค่าเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก โดยผู้ปกครองส่วนหนึ่งพิจารณาถึงการนำบุตรหลานออกมาจากระบบการศึกษาในโรงเรียนสู่การศึกษาแบบ “โฮมสคูล” แทน ซึ่งในปัจจุบันก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นดังที่กล่าวถึงไว้ก่อนหน้านี้

ในปัจจุบันซึ่งมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรจำนวนมากไปแล้ว ในช่วงที่ผ่านมามีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปรับการเรียนการสอนกลับมาเป็นแบบผสมระหว่าง onsite และ online แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ด้านโรคระบาดสถาบันต่าง ๆ ต่างก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดคิดมากกว่าเมื่อก่อน

ถึงแม้จะสรุปได้ยากว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นประการใดบ้างที่จะคงอยู่ต่อไปแม้จะจบวิกฤตการณ์โรคระบาดลงแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอุบัติขึ้นของโรคระบาดในครั้งนี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างในด้านของโครงสร้างพื้นฐานและค่านิยมในด้านการศึกษา สิ่งที่พวกเราเรียกกันจนติดปากในวันนี้ว่า New Normal วันหนึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ และนี่ก็น่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราต้องหา The New(er) Normal เพื่อเอาชนะอุปสรรคที่มนุษยชาติจะต้องเจออีกในอนาคต เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เด็ก ๆ จะต้องใช้เพื่อการศึกษาในระบบสามัญแล้ว มนุษยชาติเองก็ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก และไม่แน่ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใกล้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมมากกว่าที่เคยก็เป็นได้

อ้างอิง
http://statbbi.nso.go.th
https://prachatai.com
https://www.matichon.co.th/news_2194976
https://thestandard.co
https://www.matichon.co.th/news_2559462

หัวข้อที่น่าสนใจ