PTT Group Sharings
06 กุมภาพันธ์ 2565

How to จัดการขยะพลาสติกจากเดลิเวอรี่

ในช่วงต้นปี 2563 ประเทศไทยได้เริ่มนโยบายงดแจกถุงพลาสติก โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและเอกชนกว่า 75 แห่ง งดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) จากที่โดยปกติไม่ว่าจะในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าพนักงานคิดเงินจะบริการบรรจุสินค้าลงถุงพลาสติกให้เสร็จสรรพ พร้อมให้ลูกค้านำกลับหลังชำระเงินเสร็จแม้ว่าในบางครั้งจะเป็นสินค้าชิ้นเล็กๆเพียงชิ้นเดียวก็ตาม จากนโยบายนี้คาดว่าจะทำให้ขยะพลาสติกของประเทศไทยลดลงกว่า 30% ภายใน 1 ปี แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวทางหลักในการยับยั้งการระบาดคือการ “ล็อกดาวน์” ลดการพบปะของผู้คนให้น้อยที่สุด ให้ทำงานจากที่บ้านหากเป็นไปได้ งดเว้นการรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือรับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้ความนิยมในการสั่งอาหารให้มาส่งที่บ้านหรือฟู้ดเดลิเวอรี่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว โดยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา คาดการณ์ว่าธุรกิจเดลิเวอรี่มีการเติบโตกว่า 3 เท่าตัวจากปีก่อนหน้า (2563)

ในการสั่งอาหารเดลิเวอรี่แต่ละครั้งโดยเฉลี่ยแล้วสร้างขยะพลาสติกประมาณ 5 ชิ้น ได้แก่ ถุงพลาสติก กล่องกระดาษใส่อาหาร กล่องพลาสติกใส่ อาหาร กล่องพลาสติก/ซองพลาสติกแยกชนิดอาหาร ซองเครื่องปรุงรส แก้วพลาสติกใส่เครื่องดื่ม ตะเกียบไม้หรือพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก พร้อมซองพลาสติกใส่ตะเกียบหรือช้อนกระดาษทิชชู เป็นต้น ทำให้เมื่อปริมาณการสั่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้นปริมาณขยะพลาสติกก็เพิ่มมหาศาลเป็นเงาตามตัว

จากรายงานข้อมูลขยะพลาสติกที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้พบว่าปริมาณขยะพลาสติกรวมทุกประเภทในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2563 หลังจากการใช้นโยบายล็อกดาวน์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 62% โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่จัดเก็บได้เป็นขยะประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อนใส่อาหาร กล่องอาหาร ขวดน้ำ และแก้วน้ำ ขยะพลาสติกปนเปื้อนเศษอาหารซึ่งรีไซเคิลไม่ได้/รีไซเคิลได้ยากเพิ่มขึ้น 72% หรือคิดเป็น 2,772.5 ตันต่อวัน จากการไม่คัดแยกหรือล้างทำความสะอาดก่อนทิ้ง และการขาดระบบรองรับการเก็บขยะแบบแยกประเภท สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคาดการณ์ว่าปริมาณขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่ในปีพ.ศ. 2563 น่าจะอยู่ที่ 1,120 - 3,080 พันล้านชิ้น และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,325 – 6,395 พันล้านชิ้น ในปีพ.ศ. 2568

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้เสนอวิธีการลดขยะพลาสติกจากต้นทาง สำหรับภาคธุรกิจและภาครัฐ สำหรับภาคธุรกิจเสนอให้

  1. สนับสนุนการลดการใช้ ตัวอย่างเช่น Foodpanda ในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงให้คูปองส่วนลดสำหรับลูกค้าที่เลือกไม่รับช้อนส้อมเป็นประจำ
  2. ใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือก เช่น บริษัทเดลิเวอรี Deliveroo ในประเทศอังกฤษจัดหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาให้ร้านอาหารในเครือใช้ สำหรับประเทศไทยบริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด ได้ร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (GC) และบริษัท ไบโอ-อีโค จำกัด (Bio-Eco) ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ 100% (Bio-Compostable) ไม่แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
  3. วางมาตรการสำหรับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เช่น มีระบบมัดจำ-ส่งคืน สำหรับภาครัฐเสนอให้ออกกฎหมายที่ลดการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้และการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทครั้งเดียวทิ้ง ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีนมีแผนห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้ในธุรกิจเดลิเวอรี่เริ่มจากปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ภายในปี 2565 สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับภาคเอกชนเรื่องการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากฟู้ดเดลิเวอรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจหาแนวทางเพื่อลดการใช้พลาสติก แม้จะเป็นการขอความร่วมมือโดยสมัครใจและยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายในการลดใช้พลาสติกที่ชัดเจน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เสนอแนวทางจัดการขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่สำหรับประชาชนทั่วไปในประเทศไทย คือ “ลด” และ “คัดแยก” โดยการปฏิเสธที่จะรับช้อนส้อม หรือซองเครื่องปรุงหากไม่ต้องการในแอปพลิเคชันเมื่อจะสั่งอาหาร ล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์หลังรับประทาน และแยกขยะตามประเภทส่งไปที่จุดรับรีไซเคิล ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ในการลงมือปฏิบัติและส่งต่อจิตสำนึกสาธารณะสู่คนรอบข้างและลูกหลานต่อไป

อ้างอิง

https://thestandard.co
http://www.ej.eric.chula.ac.th
https://tdri.or.th
https://www.wongnai.com

หัวข้อที่น่าสนใจ