PTT Group Sharings
24 กุมภาพันธ์ 2565

มหาวิทยาลัยสีเขียว

ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญในแง่การลงมือปฏิบัติกันในวงกว้าง สถาบันศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกจึงมีความพยายามในการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา รวมถึงมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีการจัดการทรัพยากรอย่างไรให้มีความยั่งยืน ซึ่งทางสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องลงมือทำเองเพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากร และนี่จึงทำให้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวได้ถือกำเนิดขึ้น มหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green University คือ มหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการสนับสนุนให้จัดกิจกรรม หรือ มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน (sustainable) ปัจจุบันได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกในทุกๆ ปี โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2010 หรือ ได้ทำการจัดอันดับมาเป็นเวลา 12 ปีแล้วหากนับจนถึงปัจจุบัน การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก (UI Green Metric World University Ranking) นี้ทำการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) โดยมีมหาวิทยาลัยมากกว่า 300 แห่ง จากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมการจัดอันดับนี้

การที่มหาวิทยาลัยต้องการเข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก จะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความแน่วแน่ และความตั้งใจในการส่งเสริมความยั่งยืน และไม่ว่ามหาวิทยาลัยนั้นๆ จะอยู่ส่วนใดของโลกก็สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์กำหนด รวมถึงมีการให้คะแนน เพื่อทำการประเมิน และจัดอันดับ โดยมีหลักเกณฑ์การเข้าร่วม และประเมินดังต่อไปนี้

  • Setting And Infrastructure (ที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน) เป็นการประเมินเกี่ยวกับสัดส่วน และพื้นที่สีเขียว รวมไปถึงสัดส่วนงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนโครงการนี้
  • Energy and Climate Change (การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) หัวข้อนี้จะเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ และโครงการด้านพลังงานทดแทน หรือ พลังงานสะอาดที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงปริมาณพลังงานทดแทนที่ผลิตได้ สัดส่วนการใช้พลังงานเฉลี่ยต่อคน โครงการลดการใช้พลังงานต่างๆ และการดำเนินการตามนโยบายด้านอาคารสีเขียว ที่มีการวางแผนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้พลังงานทดแทน เช่น ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์สำหรับดวงไฟส่องสว่างของอาคาร เป็นต้น
  • Waste management (การจัดการของเสีย) ระบบการจัดการของเสียภายในมหาวิทยาลัย ทั้งของเสียอินทรีย์ และอนินทรีย์ การบำบัดน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล การบำบัดของเสียเป็นพิษ การลดปริมาณการใช้สิ่งของแบบครั้งเดียวทิ้ง เช่น กระดาษ และพลาสติก และการจัดการกับของเสียในมหาลัยส่วนที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
  • Water usage (การจัดการน้ำ) เช่น โครงการอนุรักษ์น้ำ ระบบจัดการน้ำเสีย การนำน้ำเสียกลับมาใช้ซ้ำ และอุปกรณ์แบบประหยัดน้ำต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยใช้งาน เป็นต้น
  • Transportation (การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ในส่วนของหัวข้อการขนส่งจะเป็นการคิดสัดส่วนเฉลี่ยของยานพาหนะต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย จำนวนยานพาหนะที่มีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (zero emission vehicles) พื้นที่จอดยานพาหนะ เส้นทางเดินเท้าภายในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงนโยบายการลดมลพิษในสถานศึกษาต่างๆ และบริการรถรับส่งสาธารณะในมหาวิทยาลัย
  • Education (ความสามารถในการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน) ส่วนนี้จะกล่าวถึงงานด้านวิชาการ และการสนับสนุนเกี่ยวกับความยั่งยืนของทางมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นรายวิชา จำนวนผลงานวิชาการ หรือ การตีพิมพ์ จำนวนองค์กรนักศึกษา และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน สัดส่วนของทุนวิจัยด้านความยั่งยืน เว็บไซต์ที่นำเสนอเกี่ยวกับความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย และรายงานผลการดำเนินการด้านความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเองก็ได้เข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก (UI Green Metric World University Ranking ) นี้ด้วยเช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยของไทยที่ได้เข้าร่วมได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่ง โดยในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลคว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 62 ของโลก อันดับ 2 คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 73 ของโลก อันดับ 3 คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในอันดับที่ 81 ของโลก อันดับ 4 คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อยู่ในอันดับที่ 82 ของโลก และอันดับ 5 คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร อยู่ในอันดับที่ 93 ของโลก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นของทั้ง 5 มหาวิทยาลัยในไทยที่ติด 100 อันดับแรกของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดลในการเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย 5 ปีซ้อนในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว อีกทั้งยังกล่าวถึงการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความพอเพียง โดยให้เราช่วยลดปริมาณการใช้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น เนื่องจากการใช้ หรือ ทำลายทรัพยากรนั้นง่าย และใช้เวลาน้อยกว่าการสร้าง หรือ ทดแทน จึงอยากให้ผู้คนหันมาใช้ทรัพยากรกันอย่างพอเพียง ไม่บริโภคกันมากเกินไป และรู้ค่าของทรัพยากร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านทรัพยากร ทางด้านของรองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเสริมถึงประโยชน์ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเขียว โดยมีใจความสำคัญคือ “โลกนี้อยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโลกนี้” และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวมีความสำคัญเพราะช่วยทำให้มหาวิทยาลัยสามารถปรับปรุง พัฒนาได้ และอยากให้มหาวิทยาลัยไทยร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และยั่งยืน

อ้างอิง
greenmetric.ui.ac.id
www.greennetworkthailand.com
www.facebook.com/environman.th/
www.salika.co
campus.campus-star.com
th-th.facebook.com/ChulalongkornUniversity
www.greennetworkthailand.com
lifegeennu.blogspot.com
erp.mju.ac.th
backoffice.thaiedresearch.org
building.rmutr.ac.th
www.volkswagenag.com

หัวข้อที่น่าสนใจ