PTT Group Sharings
03 มีนาคม 2565

Long Covid เชื้อจบ อาการไม่จบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ที่ กำลังเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าในขณะนี้ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็เป็นที่น่ากังวลใจ นั่นคือภาวะ Long COVID (ลองโควิด) ที่มีอีกหลายชื่อเรียกเล่น Post-COVID condition, Long-haul COVID, post-acute COVID-19, post-COVID-19 syndrome หรือ chronic COVID

Long COVID เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว โดยจะมีอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน รวมถึงการฟื้นฟูร่างกายได้ไม่เท่ากันซึ่งอาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยอาการลองโควิดที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลียเรื้อรัง เหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม ปวดศีรษะ สมาธิจดจ่อลดลง ความจำผิดปกติไอ เจ็บแน่นหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ท้องร่วง ท้องเสีย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล เป็นต้น

ผู้ป่วยกลุ่มอาการลองโควิด หรือผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อแล้วนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการและเฝ้าระวังภาวะลองโควิดของตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วย 3 เคล็ดลับ ดังนี้

1. นอนหลับพักผ่อนให้เหมาะสม ตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที หลีกเลี่ยงคาเฟอีน อาหารมื้อดึก งดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อสร้างสุขอนามัยในการนอนหลับที่ดี

2. ควรมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ กล้ามเนื้อกะบังลม และกล้ามเนื้อยึดซี่โครง โดยฝึกหายใจเข้า-ออก โดยในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อรอบ ประมาณ 3 – 5 รอบ และระหว่างรอบให้พัก 30 – 60 วินาที ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอาการเหนื่อย หายใจลำบาก ช่วยขับเสมหะและป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ

3. การฝึกบริหารปอด ออกกำลังกายแบบแอโรบิก และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรทำเป็นประจำเพื่อฟื้นฟูร่างกาย สร้างสุขภาพที่ดี ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ บริเวณกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบน สะบัก และลำตัวด้านข้าง เพราะเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ช่วยขยายกะบังลมและซี่โครง ทำให้หายใจได้ดีขึ้น หากกล้ามเนื้อเหล่านี้มีการตึงตัว ยึดเกร็ง ทรวงอกจะไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ พื้นที่ในทรวงอกลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพ การทำงานของปอดลดลงได้ โดยวิธียืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทำได้โดยการเหยียดแขน โก่งหลัง ชูแขนเอียงลำตัว และผสานมือที่ศีรษะ กางศอก แอ่นอก ยืดเหยียดในแต่ละท่าจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 15 วินาที ให้ปฏิบัติท่าละ 2 รอบ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

การรับประทานอาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากอาการลองโควิดได้โดยเร็ว โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลว่าผู้มีอาการลองโควิด ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เลือกทานโปรตีน และอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย กินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ และยังช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูร่างกายได้แก่ วิตามินซี ที่ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้สด หากนึ่งหรือผัด ควรใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาคุณค่าจากวิตามินซีไว้ , วิตามินเอ พบมากในเครื่องในสัตว์ ไข่แดง ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม , วิตามินดี ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม เห็ด ไข่แดง เป็นต้น , วิตามินอี ได้แก่ ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ถั่วต่าง ๆ นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน อะโวคาโด เป็นต้น และสุดท้ายคือ แร่ธาตุสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องใน ตับ หอยนางรม ข้าวกล้อง เป็นต้น

นอกจากวิธีข้างต้นผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อควรรักษาสุขอนามัยของตนเองด้วยการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ทุกครั้งที่สัมผัส และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร ดังนั้นหากผู้ป่วยหมั่นดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และหากพบว่ามีอาการภาวะ Long Covid กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์ เพื่อขอรับคำปรึกษาโดยเร็ว

อ้างอิง
www.rama.mahidol.ac.th
www.bangkokhospital.com
www.thansettakij.com
www.thansettakij.com
www.bangkokhospital.com
www.komchadluek.net

หัวข้อที่น่าสนใจ