PTT Group Sharings
07 มีนาคม 2565

Smart City เมืองอัจฉริยะต้นแบบในไทย

จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่าประชากรของโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นภายในปี ค.ศ.2050 มากถึง 2 พันล้านคน ส่งผลให้การขยายตัวของความเป็นเมืองจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เกิดการเติบโตขึ้นของเมืองใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านความแออัดในเขตเมือง คุณภาพด้านอากาศ ปัญหามลพิษต่าง ๆ โรคระบาดร้ายแรง ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของรายได้ รวมไปถึงการเข้าถึงโอกาสและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงนำไปสู่ความพยายามของหลาย ๆ ประเทศที่เตรียมการในด้านต่าง ๆ เพื่อรับมือต่อสถานการณ์การเติบโตของมหานคร (Mega Urban City) เมืองอัจฉริยะจึงเป็นที่มาในการแก้ปัญหาเหล่านี้

เมืองอัจฉริยะ เป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยอาศัยการออกแบบที่ดี เน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืน โดยเมืองอัจฉริยะมีองค์ประกอบดังนี้

  1. การสัญจรอัจฉริยะ Smart Mobility เมืองที่มุ่งพัฒนาระบบการจราจรและการขนส่งอัจฉริยะ เน้นความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทางอย่าง รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ Smart Living เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี และมีความปลอดภัย
  3. เศรษฐกิจอัจฉริยะ Smart Economy เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น
  4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ Smart Environment เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการกำจัดของเสีย ระบบการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของคนในเมืองในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
  5. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ Smart Governance เมืองที่พัฒนาระบบการบริการของรัฐ เพื่อความอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยมีความโปร่งใส และเน้นการมีส่วนร่วม ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง
  6. พลเมืองอัจฉริยะ Smart People เมืองที่พัฒนาองค์ความรู้ ทักษะและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
  7. พลังงานอัจฉริยะ Smart Energy เมืองที่บริหารจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

โดยหากจะตัวอย่างของเมืองอัจฉริยะที่เป็นต้นแบบของโลกในปัจจุบัน เมืองแรกคือ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ได้ริเริ่มโครงการเมืองอัจฉริยะ ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2009 โดยความร่วมมือของภาคเอกชน เทศบาล และประชาชน เพื่อมุ่งเน้นสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเริ่มต้นจากทำโครงการย่อยต่าง ๆ เกือบ 200 โครงการ ที่มุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเมืองสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการแก้ปัญหาด้านการจราจร การใช้พลังงาน และความปลอดภัยของประชาชน อัมสเตอร์ดัมคือเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของเมืองอัจฉริยะ ขยะถูกเก็บโดยรถขยะพลังงานไฟฟ้า ป้ายรถประจำทาง บิลบอร์ดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ บ้านเรือนมีหลังคาที่ช่วยประหยัดพลังงาน และมีจุดจ่ายกระแสไฟให้กับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เหล่านี้ทำให้กลายเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะ

เมืองฟูจิซาวา ในจังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่มีเป้าหมายหลัก คือ ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70% ลดการใช้น้ำลง 30% ใช้พลังงานทดแทนในอัตรา 30% และกักเก็บพลังงานให้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต 3 วัน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งบ้านทุกหลังในเมืองมีการติดแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งแบตเตอรี่เก็บพลังงานไฟ้ฟ้า เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Smart Grid ที่สามารถผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการใช้งานจริง

โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมืองอัจฉริยะที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยบอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ในปีค.ศ.2025 เป้าหมายนี้ช่วยเร่งให้เกิดการปฏิวัติเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมืองยังมีเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่แบบยั่งยืน มีการใช้ระบบอัจฉริยะควบคุมไฟบนท้องถนน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในที่สาธารณะ มีระบบขนส่งมวลชน ที่ใช้รถประจำทางเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด มีการให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆของเมืองอย่างเปิดกว้างเพื่อการพัฒนา เช่น สามารถใช้แอปพลิเคชัน หาที่จอดรถที่ว่างในเมือง สมาร์ตโฟนสามารถควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเครือข่ายการแลกเปลี่ยนจักรยาน เหล่านี้ทำให้เมืองมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยก็มีการริเริ่มพัฒนาหลายๆเมือง ให้เป็นเมืองอัจฉริยะเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือโครงการเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ ที่ตั้งอยู่ ณ ต.ป่ายุบ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นโครงการเมืองนวัตกรรมอัจฉริยะในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform ที่ตั้งเป้าเป็นเมืองหลวงแห่งนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดของประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ 1.พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) 2.พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) และ 3.พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นต้นแบบ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) ครบทั้ง 7 ด้าน ภายใต้ศักยภาพของพื้นที่และความร่วมมือจากพันธมิตรในทุกภาคส่วนที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยยกระดับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมสากล และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาคได้ต่อไปในอนาคต วังจันทร์วัลเลย์ เป็น 1 ใน 15 โครงการที่ผ่านการรับรองการเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ 1.มีการกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน 2.มีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง 3.มีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองที่ปลอดภัย 4.มีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน และ 5.มีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

อ้างอิง
www.greennetworkthailand.com
so04.tci-thaijo.org
www.scb.co.th
www.engineeringtoday.net
osm.oop.cmu.ac.th
thematter.co
www.tei.or.th
www.refinn.com
smartcitythailand.com
www.wangchanvalley.com
mgronline.com

หัวข้อที่น่าสนใจ