PTT Group Sharings
26 มีนาคม 2565

มารู้จักกับ MIT มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก

“สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์” ชื่อนี้อาจฟังดูไม่คุ้นหูเท่าไรนัก แต่ถ้าเรียกด้วยชื่อย่อว่า MIT เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกทีไร ก็จะมีชื่อนี้ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกเสมอ ๆ โดยเฉพาะจากการจัดอันดับของ Quacquarelli Symonds (QS) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษา ได้ยกให้ MIT เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกมาติดต่อกันครบ 10 ปีแล้ว (2011-2021) อีกทั้งช่วงหลังเราอาจจะได้ยินชื่อสถาบันนี้ บ่อยครั้งขึ้น จากทั้งภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่อง และข่าวผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครทั้ง 2 คนที่สำเร็จการศึกษาจาก MIT ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักสถาบันนี้ให้มากขึ้นกัน

MIT ตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนและงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีศิษย์เก่าที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่าง ๆ ถึง 41 คน (หากรวมคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยด้วยจะเป็น 98 คน) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ก่อตั้งขึ้นในปี 1861 เพื่อรองรับการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีส่วนร่วมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่นั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 MIT ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยทางทหาร เช่น พัฒนาระบบเล็งปืน เล็งเป้าทิ้งระเบิด เรดาร์ การถ่ายรูปความเร็วสูง เป็นต้น หลังสงครามสิ้นสุด MIT กลายเป็นสถาบันด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีส่วนร่วมในการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในโครงการอพอลโล (Buzz Aldrin หนึ่งในนักบินอวกาศกลุ่มแรกที่ได้เหยียบพื้นดวงจันทร์ก็เป็นศิษย์เก่า MIT เช่นกัน) คอมพิวเตอร์ที่ตอบสนองต่อคำสั่งทันที (real-time computure) และมีหน้าจอแสดงภาพเครื่องแรก ‘Whirlwind’ ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นที่ MIT ในช่วงปี 1950

ในปัจจุบันนักวิจัยจาก MIT ยังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจออกมาเสมอ ๆ เช่น พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คัดกรองผู้ติดโรคโควิด-19 ด้วยเสียงไอ, หุ่นยนต์ที่สามารถวิ่ง กระโดด และตีลังกากลับหลังกลางอากาศได้, หุ่นยนต์ขนาดจิ๋วที่บินได้เหมือนแมลง, หุ่นยนต์ขนาดจิ๋วรูปทรงเหมือนเส้นด้ายสำหรับใช้ผ่าตัดในหลอดเลือด และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทีมวิศวกรเคมีของ MIT แถลงข่าวความสำเร็จของงานวิจัยกว่า 10 ปี สร้างวัสดุ ‘2DPA-1’ ด้วยเทคโนโลยีโพลีเมอร์ 2 มิติ ทำให้ได้วัสดุที่เบาเหมือนพลาสติกแต่มีความแข็งแรงแตกหักยากกว่าเหล็กถึง 2 เท่า ต้านทานการเสียรูปมากกว่ากระจกกันกระสุน 4-6 เท่า วัสดุนี้อาจถูกนำมาใช้แทนที่เหล็กกล้า ทลายข้อจำกัดในการก่อสร้างอาคารและการผลิตยานยนต์ก็เป็นได้

MIT ยังมีวัฒนธรรมส่งเสริมการก่อตั้งธุรกิจแบบ start-up ตั้งแต่ปี 1991 มีการแข่งขันแผนธุรกิจประจำปีMIT $100K Entrepreneurship competition มีกิจกรรมนอกหลักสูตรเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักเรียนที่สนใจ บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Intel, Qualcomm, Bose, Dropbox ก็มีสมาชิกผู้ก่อตั้งเป็นศิษย์เก่าจาก MIT จากการสำรวจของ Kauffman foundation พบว่าศิษย์เก่า MIT ก่อตั้งบริษัทราว 25,800 บริษัท สร้างรายได้ต่อปีราว 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับรายได้ของประเทศต่าง ๆ (GDP) เสมือนว่าเป็นประเทศที่มี GDP สูงอันดับที่ 11 ของโลก

ตัวอย่างบุคคลผู้มีชื่อเสียงของไทยที่จบจากสถาบัน MIT ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวเคมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อีกหนึ่งผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมธรณีเทคนิค นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

อ้างอิง
https://news.mit.edu
https://www.britannica.com
https://www.britannica.com
https://www.historyofinformation.com
https://news.mit.edu
https://today.line.me/th
https://workpointtoday.com
https://news.mit.edu
https://thematter.co
https://innovation.mit.edu
https://entrepreneurship.mit.edu
https://news.mit.edu
https://www.bbc.com
https://thaipublica.org
http://www.thaifstt.org
https://th.wikipedia.org/wiki

หัวข้อที่น่าสนใจ