สิ่งแวดล้อม
07 กรกฎาคม 2564

นวัตกรรม Upcyling

ในปัจจุบันโลกของเรามีปริมาณขยะจำนวนหลายพันล้านตันต่อปีที่ต้องกำจัด โดยที่ขยะเหล่านั้นล้วนมาจากการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ซึ่งหากเป็นของที่ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้อีกหรือหมดสภาพการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นขยะ ดังนั้นโลกของเราจึงเผชิญหน้ากับปัญหาขยะหลายพันล้านตันที่กำลังล้นโลกอยู่ทุกๆปี และแน่นอนว่าจำนวนขยะเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆทุกปี อิงตามจำนวนประชากรและความต้องการในการอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน สิ่งที่เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับขยะเหล่านี้คือการจัดการรวมถึงแนวทางการกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกต้อง

การจัดการขยะนั้นมีได้หลากหลายวิธี วิธีที่คนคุ้นเคยและเคยได้ยินบ่อยที่สุดนอกเหนือจากการทำลายหรือฝังกลบขยะก็คงจะเป็นการนำขยะไปrecycle (รีไซเคิล) การนำขยะไป recycle คือทำให้วัสดุเหลือใช้และขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการจัดการปัญหาขยะนอกเหนือจากการนำไปทำลายหรือฝังกลบที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่งในอดีต แต่ ณ ปัจจุบันโลกของเราได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่จะช่วยจัดการปัญหาในการจัดการขยะ ซึ่งเราเรียกนวัตกรรมนั้นว่าการ upcycle หรือ upcycling

การ upcycle หรือ upcycling นั้นอาจดูคล้ายคลึงกับการ Recycle ก็จริง แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างการ recycle กับการ upcycling คือการ upcycling นั้นจะเป็นการที่นำวัสดุเหลือใช้หรือขยะกลับมาใช้งานโดยจะมีการดัดแปลงหรือแปรสภาพวัสดุหรือขยะชิ้นนั้น และรังสรรค์ขึ้นมาเป็นงานชิ้นใหม่เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของสิ่งนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นการ upcycling เสื้อผ้าเก่าและนำไปทำเป็นกระเป๋าผ้าโดยการตัดบางส่วนของเสื้อผ้าเก่าออกแล้วนำไปเย็บหรือดัดแปลงเป็นกระเป๋าใบใหม่ ซึ่งหากเป็นการนำเสื้อผ้าเก่าไป recycle นั้นจะหมายถึงการนำเสื้อเผ้าเก่าตัวนั้นไปใช้งานเป็นเสื้อผ้าเช่นเดิม ไม่ได้นำไปดัดแปลงเพื่อไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น หรือเมื่อไม่นานมานี้ทางบริษัทนันยางก็ได้มีการนำขยะทะเลมา upcycling ดัดแปลงและผลิตออกมาเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ โดยที่การทำรองเท้าแตะหนึ่งคู่นั้นต้องใช้ขยะทะเลถึง 5 กิโลกรัมเพื่อนำไปทำเป็นรองเท้า ซึ่งนั่นหมายถึงเราสามารถกำจัดขยะทะเลจำนวน 5 กิโลกรัมต่อรองเท้าหนึ่งคู่ นอกจากช่วยลดประมาณขยะทะเลได้แล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทั้งขยะทะเลและรองเท้าที่ได้ผลิตออกมาอีกด้วย

ในต่างประเทศ การนำขยะไปทำการ upcycling กำลังเป็นที่แพร่หลาย มีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลายแบรนด์ที่สนับสนุนการ upcycling รวมทั้งมีการผลิตสินค้าที่ได้มาจากการ upcycling ออกมาอีกด้วย และแน่นอนว่าได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดีจากประชาชนและผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีไอเดียในการ upcycling อีกมากมายที่เราสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะหรือของเหลือใช้รอบตัวเราได้ เพื่อช่วยจัดการลดปริมาณขยะโลกที่เกิดขึ้นจำนวนหลายพันตันในทุกปี

การ upcycling ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังถือว่าไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก อาจจะเพราะยังไม่มีนโยบายสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทหรืออุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทยมากเท่าที่ควร แต่หนึ่งในบริษัทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทยคือบริษัท ปตท. ซึ่งบริษัท ปตท.มีหลายโครงการที่ดำเนินงานขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาขยะและดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ Upcycling the Ocean, Thailand ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ซึ่งผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans ในประเทศสเปนตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมกับสมาคมเรือประมงนำขยะพลาสติกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ อีโคอัลฟ์ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดการแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทยรวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะ โดยการจัดเก็บขยะพลาสติกประเภท PET เช่น ขวดพลาสติกใส และขยะพลาสติกประเภท PE เช่น ถุงพลาสติก ที่ถูกทิ้งในทะเลและบริเวณพื้นที่ชายฝั่งมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบ พัฒนาและออกแบบมาเป็นสินค้าด้านแฟชั่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และเป็นการนำทรัพยากรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเป็นการลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย

ที่มา: https://www.facebook.com/CareShareAndRespect/posts/3942650219180681

หัวข้อที่น่าสนใจ