สิ่งแวดล้อม
30 มิถุนายน 2564

Bio-Plastic บรรจุภัณฑ์ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่าย

ปัจจุบัน เทรนด์รักษ์โลกกำลังเป็นที่นิยมในหลาย ๆ ประเทศมีการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก หลายธุรกิจเจ้าใหญ่ ๆ จึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่าย อย่างกระดาษ ถุงผ้า รวมไปถึงพลาสติก ชีวภาพ หรือ Bio – Plastic แทน เนื่องจากช่วยทดแทนการใช้พลาสติกได้ หลาย ๆ คนคงจะสงสัยว่า พลาสติกชีวภาพ ทำไมถึงย่อยสลายได้ดีกว่าพลาสติกธรรมดา วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกัน

ทำไมผู้ประกอบการถึงลดการใช้พลาสติก
พลาสติกจัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ จำพวกไฮโดรคาร์บอนที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง มีเส้นใยพอลิเมอร์ที่ประกอบไปด้วยธาตุต่าง ๆ อย่างคาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน คลอรีน กำมะถัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ของการสร้างจนไปถึงการทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝังดินทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ การเผาทำให้เกิดควันพิษ และใช้เวลานานถึง 100 ปีในการย่อยสลาย รวมไปถึงการสร้างสารปนเปื้อนต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันมีการตระหนักถึงปัญหานี้ขึ้น และเกิดการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก และเริ่มคิดค้นสิ่งที่จะนำมาทดแทนนั่นเอง

พลาสติกชีวภาพ หรือ Bio – Plastic ต่างจากพลาสติกธรรมดาอย่างไร
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ จึงเกิดเป็นพลาสติกชีวภาพ ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น พืชอย่างข้าวโพด เซลลูโลส แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย เศษไม้ ซึ่งโครงสร้างทางเคมีมีคุณสมบัติทำให้ย่อยสลายในดิน ปุ๋ยหมักได้ โดยที่ไม่ทิ้งสารปนเปื้อนหรือมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ของพลาสติกชีวภาพ หรือ Bio – Plastic
การใช้พลาสติกชีวภาพจะช่วยลดการใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการกลั่นในการผลิตพลาสติกได้อย่างมาก

การนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์ หรือภาชนะใส่สิ่งของต่าง ๆ เช่น ถุงกระดาษ , หลอดพลาสติก , แก้วน้ำพลาสติก , ภาชนะใส่อาหารหรืออุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เหมาะกับธุรกิจร้านอาหารและร้านขายของต่าง ๆ หรือการใช้เม็ดผักกระเฉดแทนเม็ดโฟมพลาสติกกันกระแทกสำหรับใส่กล่องพัสดุ นำมาผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ อย่าง ผิวหนังเทียม แผ่นที่ใช้ดามกระดูก หรือไหมละลาย การทำงานของมันคือ เมื่อฝังเข้าไปในร่างกายแล้วสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การใช้ส่วนที่ไม่จำเป็นของผลผลิตทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในการหาช่องทางใหม่ ๆ ในการเพิ่มรายได้อีกด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีการลดการใช้พลาสติก แต่อย่างไรก็ตามผู้คนก็ต้องใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันอยู่ดี ดังนั้น การผลิตพลาสติกชีวภาพ จึงถือเป็นสิ่งที่ทดแทนการใช้พลาสติกได้ และยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้หลาย ๆ คนหันมารักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

กลไกการย่อยสลายของ Bio - Plastic

  1. การย่อยสลายด้วยแสง เมื่อเติมสารที่มีความว่องไวต่อแสงลงในพลาสติกหรือสารสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างทางเคมีที่ไม่แข็งแรง จะทำให้แตกหักง่ายเมื่อโดนรังสียูวี เกิดเป็นสารอนุมูลอิสระที่ไม่มีความเสถียร ทำให้พันธะเคมีเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อคาร์บอนทำให้โครงสร้างขาดลง ซึ่งการย่อยสลายด้วยแสงจะไม่สามารถเกิดได้ในพื้นที่มืดนั่นเอง
  2. การย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชัน เป็นการเติมออกซิเจนลงในเส้นใยพอลิเมอร์ของพลาสติก สามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ โดยมีออกซิเจน แสงยูวี ความร้อน และแรงทางกลเป็นปัจจัย แสงและความร้อนทำให้เกิดการแตกตัวเป็นอนุมูลอิสระ เมื่อไม่มีความเสถียร ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อโครงสร้างเคมีได้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีตัวใหม่ ช่วยให้พอลิโอเลฟินเกิดการย่อยสลายได้เร็วขึ้น เมื่อมีการเติมสารเติมแต่ง จะช่วยเร่งการแตกตัวของไฮโดรเปอร์ออกไซด์ กลายเป็นอนุมูลอิสระ ส่งผลให้พอลิเมอร์เกิดการแตกตัวเร็วยิ่งขึ้น
  3. การย่อยสลายทางกล เมื่อเกิดแรงกระทำต่อพลาสติก ทำให้ชิ้นส่วนแยกออก เป็นวิธีการทั่วไปในการแตกพลาสติกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ
  4. การย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบที่ใช้คาทาลิสต์จากภายนอกโมเลกุลเร่งให้เกิดการย่อยสลาย มี 2ชนิด คือ คาทาลิสต์ที่เป็นเอนไซม์ต่าง ๆ เป็นการย่อยสลายทางชีวภาพ และคาทาลิสต์ที่ไม่ใช่เอนไซม์ตามธรรมชาติ หรือเอนไซม์เคมีนั่นเอง ส่วนแบบที่ใช้คาทาลิสต์จากภายในโมเลกุลเร่งให้เกิดการย่อยสลาย จะใช้กลุ่มคาร์บอกซิล หรือเอไมต์จากปลายสายพอลิเมอร์ในการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลาย
  5. การย่อยสลายทางชีวภาพ เกิดจากการทำงานของจุลินทรีย์ แต่เนื่องจากขนาดของเส้นใยพอลิเมอร์ยังไม่ละลายน้ำและมีขนาดใหญ่ จึงต้องมีการปล่อยเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการแตกตัวของโครงสร้างทางเคมีเพื่อให้พอลิเมอร์แตกตัวจนมีขนาดที่เล็ก จึงจะเกิดขั้นตอนการย่อยสลายต่อในขั้นที่ 2 นั่นคือพลังงาน และสารที่มีความเสถียรทางธรรมชาติ เช่น แก๊สมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ แร่ธาตุ และมวลชีวภาพต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม การแยกให้ออกระหว่างพลาสติกทั่วไปกับพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจยังคงเป็นปัญหาอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จึงได้ออกฉลาก “GC Compostable” ขึ้น เพื่อการันตีว่า พลาสติกที่คุณใช้อยู่นั้น สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาตินั่นเอง

ที่มา: https://www.facebook.com/CareShareAndRespect/posts/3923473807764989

หัวข้อที่น่าสนใจ