PTT Group Sharings
13 มิถุนายน 2564

เรียนออนไลน์ในระลอก 3 อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นเป็นระลอก 3 ทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รวมไปถึงมีมาตรการในการควบคุมสถานที่สาธารณะ อย่างสถานศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่มีการสั่งปิดชั่วคราว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกคนที่ต้องเรียนให้ครบหลักสูตรตามเวลาที่กำหนด จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบออนไลน์ วันนี้จะมาแชร์เคล็ดลับสำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่กำลังเรียนออนไลน์ในระลอก 3 อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

เคล็ดลับสำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่กำลังเรียนออนไลน์ในระลอก 3 อย่างไรให้ฉลาด

  1. การเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน สำหรับการเรียนออนไลน์ ต้องใช้เวลาในการเข้าสู่ระบบ ดังนั้น ผู้เรียนควรจัดการตัวเอง รับประทานข้าว เข้าห้องน้ำ ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย การเข้าเรียนก่อนเวลาอย่างน้อย 5 – 10 นาที ทำให้เรามีเวลาในการเตรียมความพร้อมด้านการเรียนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เตรียมตัวมีดังนี้
    • เตรียมเนื้อหาการเรียนการสอน การบ้าน หรือบทเรียนที่จะเรียนวันนี้
    • อุปกรณ์การเรียน ไม่ว่าจะเป็นสมุดจด ดินสอ ปากกา หรืออุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ อย่างแท็บเล็ต
    • ตรวจสอบสัญญาณอินเตอร์เน็ต ว่าสัญญาณใช้ได้หรือไม่ เพื่อเตรียมเข้าสู่ระบบ ได้ยินเสียงคุณครูหรือมองเห็นภาพในกล้องชัดหรือเปล่า
    • การจัดวางมุมกล้อง แม้แต่การจัดแสงก็มีความสำคัญในกรณีที่มีการแชร์หน้าจอ
  2. ในขณะที่เรียน ควรมีสมาธิและควรมีการมองเห็นหน้าทั้งคุณครูและนักเรียน เพื่อให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบร่วมกัน ทำให้เกิดบรรยากาศเรียนในห้องร่วมกันที่ใกล้เคียงกับการสอนในห้องเรียน
  3. เมื่อเวลาที่นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาตรงไหน ควรยกมือ หรือทำสัญญาณ ครูผู้สอนจะได้เห็นและสามารถอธิบายได้ ไม่แย่งกันพูดเพราะอาจมีผลต่อความผิดพลาดในการสื่อสาร และเข้าใจเนื้อหาคลาดเคลื่อนได้
  4. การให้ความร่วมมือในห้องเรียน เป็นการให้เกียรติผู้สอน และทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ
  5. ไม่ควรลุกออกไปจากที่เรียนกลางคัน ควรออกไปจากที่นั่งเรียนเมื่อถึงเวลาพัก เพราะจะได้ไม่พลาดสาระหรือข้อมูลการเรียนการสอนที่สำคัญ และถือเป็นการรู้เวลาเรียนและเวลาพัก ฝึกการจัดการเวลาด้วยตนเอง
  6. หลังเลิกเรียน ทบทวนบทเรียนที่เรียนไป หากไม่เข้าใจคำถาม ก็สามารถส่งคำถามให้กับครูผ่านแชทนอกเวลาได้
  7. ในเมื่อเราเรียนออนไลน์ที่บ้านตัวเอง ใช้เวลานี้เปลี่ยนบรรยากาศห้อง หรือบริเวณที่เรียนให้มีสีสัน ในแนววิทยาศาสตร์บอกว่า เมื่อเรามองเห็นสีสันต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มพลังงาน และกระตุ้นสมองให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

เคล็ดลับสำหรับครูผู้สอนที่ต้องสอนออนไลน์ในระลอก 3 อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

  1. การเตรียมตัวสำหรับการสอน ต้องใช้เวลาครู่หนึ่งเพื่อเข้าสู่ระบบ ดังนั้น ครูผู้สอนควรทำธุระส่วนตัว และเตรียมเนื้อหาที่จะสอนให้เรียบร้อย การเตรียมตัวก่อนเวลาอย่างน้อย 5 – 10 นาที มีคำแนะนำในการเตรียมตัวดังนี้
    • เนื้อหาการเรียนการสอน หรือบทเรียนที่จะสอนวันนี้
    • อุปกรณ์การสอน ไม่ว่าจะเป็นสมุดจด ดินสอ ปากกา หรือ แท็บเล็ตต่าง ๆ
    • การตรวจสอบสัญญาณอินเตอร์เน็ต ว่าสัญญาณใช้ได้หรือไม่ได้ยินเสียง หรือมองเห็นภาพในกล้องชัดหรือเปล่า
    • การจัดวางมุมกล้อง และการจัดแสง
  2. การแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาที่จะสอนในแต่ละวัน เพื่อให้นักเรียนไม่สับสนและทำความเข้าใจได้ง่าย ข้อนี้ ครูผู้สอนอาจจะต้องจัดสรรเนื้อหาให้ดี
  3. ปกติแล้ว การสร้างบรรยากาศในห้องเรียน เป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่ออยู่ในห้องเรียน เราสามารถใช้ท่าทางในการสื่อสารได้ แต่เมื่ออยู่ในการเรียนแบบออนไลน์ เสียงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิ สามารถตั้งใจฟังในสิ่งที่ครูพูด อาจจะใช้โทนเสียงสูงต่ำในการดึงความสนใจของนักเรียน โทนเสียงที่มีการเน้นย้ำ ช้า ๆ ชัด ๆ บ่อย ๆ นักเรียนอาจจะฟังจนติดหูและจดจำสิ่งที่ครูพูดเน้นย้ำได้
  4. การออกแบบการเรียนการสอนเชิงบูรณาการ การเรียนออนไลน์อาจจะน่าเบื่อไปสำหรับนักเรียน ลองให้แบบฝึกหัดหรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนบ้าง หาเรื่องราวแปลกใหม่ให้พวกเขาได้ลองทำ และเรียนรู้ โดยการให้หัวข้อ การบ้าน หรือการทำโครงงานเล็ก ๆ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกตื่นเต้น แปลกใหม่ และอยากลองทำ
  5. รวบรวมข้อมูลการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงบทเรียนได้ทุกคน โดยหลังจากที่เรียนบทนี้ไปแล้ว คุณครูสามารถรวบรวมเนื้อหาที่เรียนไปแล้วให้นักเรียนได้ทบทวนย้อนหลัง
  6. สนับสนุนให้นักเรียนที่ไม่เข้าใจบทเรียน ทักมาถามคำถาม และให้คำแนะนำแก่นักเรียนได้
  7. มีพูดคุยที่ไม่ใช่เรื่องเรียน เพื่อให้นักเรียนผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี การส่งต่อพลังบวก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้นักเรียนทุกคนรู้สึกผ่อนคลายจากเหตุการณ์ที่เครียดได้

ถึงแม้ว่า การเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ จะมีความยากลำบากในเรื่องการสื่อสารที่ต้องปรับเปลี่ยนไม่เหมือนเคย แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาก็ต้องมีการพัฒนาและขับเคลื่อนต่อไป ดังนั้น ในเวลานี้ จึงทำได้แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้มีความยืดหยุ่นและยังมีเข้ากับสถานการณ์ตอนนี้ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของคุณครูและนักเรียนทุก ๆ คน และนี่อาจจะเป็นโอกาสสำคัญ ในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการแสวงหาแนวทางในการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้การศึกษาของเรามีความก้าวหน้าในด้านดิจิทัลมากกว่าเดิม

ที่มา: https://www.facebook.com/CareShareAndRespect/posts/3879507905494913

หัวข้อที่น่าสนใจ