PTT Group Sharings
14 กันยายน 2564

Carbon footprint คืออะไร

Carbon footprint กิจวัตรประจำวันทำร้ายโลก

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า Carbon footprint แต่ใครจะไปรู้ว่าสาเหตุของการเกิด carbon footprint นั้นใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และในหลาย ๆ ครั้งสาเหตุของมันก็มาจากสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราอีกด้วย

Carbon Footprint คือแนวทางที่ใช้ประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิด ซึ่งก๊าซแต่ละชนิดจะมีผลในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่แตกต่างกัน การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นหนึ่งในแนวทางการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ แปรรูป จัดจำหน่ายไปจนถึงการกำจัดของเสียหลังใช้งาน (Entire Lifecycle) ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

ทุกคนมีส่วนในการปล่อย Carbon Footprint อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการบริโภค เพราะการเกิดก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 4 มาจากกระบวนการผลิตอาหาร และไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของเรา ซึ่งจากผลกาศึกษาในวารสาร Science เมื่อปี 2018 ที่เปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหารชนิดต่างๆ 29 ชนิด ทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ พบว่าการผลิตเนื้อวัวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด และจากข้อมูลยังบอกอีกว่าการทำฟาร์มยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในห่วงโซ่การผลิต ซี่งก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรมีทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่น ๆ เช่น มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เพราะฉะนั้นการเลือกอาหารและพฤติกรรมการกินอย่างเหมาะสมช่วยลด carbon footprint ได้

ในอีกด้านการกินของสัตว์เลี้ยงเราก็สร้าง Carbon Footprint จำนวนมหาศาลเหมือนกัน จากการคำนวณค่า Greenhouse Gas Equivalencies Calculator พบว่าด้วยนิสัยการกินของสุนัขและแมว ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศถึง 64 ล้านตันทุกปี ซึ่งเท่ากับปริมาณที่ปล่อยก๊าซจากการขับรถมากกว่า 13 ล้านคัน ปัญหานี้เป็นที่น่าจับตามองเพราะว่าความนิยมการเลี้ยงหมาและแมวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชียนั่นหมายถึง ปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากหมาและแมว สู่สภาพแวดล้อมกำลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนไปจากในอดีตที่มักจะให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารเหลือต่อจากคน ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้เนื้ออย่างดีและมีราคา ส่งผลให้มีความต้องการเนื้อสัตว์ในตลาดเพิ่มมากขึ้น

ในขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เริ่มมีการนำแนวคิดเรื่องฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ผลิตในการใช้เทคโนโลยีและวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่นกัน

ในส่วนของปตท.เองได้ให้ความสำคัญกับการลด Carbon Footprint ทั้งในองค์กรและระดับนานาชาติ โดยมีการ กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเครือปตท. ให้ได้มากกว่าร้อยละ 20 ในปี 2573 ตามกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการซื้อ-ขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดโลก เพื่อตอบรับเป้าหมาย Net Zero Emission ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การซื้อขายผ่านตลาด Over The Counter ที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ เป็นองค์กรหรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามหลักการของความยั่งยืน (Environmental, Social, and Governance) เช่น Microsoft, Apple และ Google

ในปัจจุบันประเทศไทย ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาและยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถ้าหากประเทศไทยมีการดำเนินโครงการและเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ก็จะเป็นผลดีในการเพิ่มขีดการแข่งขันให้กับธุรกิจไทยในตลาดโลก และเป็นการเพิ่มบทบาทของไทยในการประชุมระดับโลกในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น

ที่มา:
https://www.ftpi.or.th/2017/19150
https://www.pttplc.com/th/Sustainability/Environment/Climatechangemanagement.aspx
https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/2985
https://www.prachachat.net/advertorial/news-720476
https://thaipublica.org/2020/02/eat-carbonfootprint/

หัวข้อที่น่าสนใจ