PTT Group Sharings
24 กันยายน 2564

รวมสถาบันการศึกษาในไทยที่สอนหลักสูตรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

หลักสูตรการท่องเที่ยวหรือคณะการท่องเที่ยวนั้นเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมจากนักเรียน นักศึกษาในประเทศไทยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลักสูตรการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในคณะยอดนิยมนั้น ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยวติดอันดับโลก มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายตอบสนองกับนักท่องเที่ยวทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสังคมและวิถีชีวิต และอื่น ๆ โดยเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยปีละหลายแสนล้าน ช่วยสนับสนุนแนวทางในการตัดสินใจเลือกหลักสูตรการศึกษาต่อของนิสิต นักศึกษา ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ อีกทั้งยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตสำหรับผู้เรียนที่ชื่นชอบการเดินทาง อีกด้วย

สำหรับหลักสูตรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นหลักสูตรที่มีความคล้ายคลึงกับหลักสูตรการท่องเที่ยวแบบปกติ แต่มีการนำหลักความยั่งยืนเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อปกป้อง สงวนรักษาและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง นักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในปัจจุบันมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลายแบบที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หรือแม้แต่นโยบายรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) มีหลักการเบื้องต้นในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนี้

  1. คำนึงถึงความสามารถของระบบธรรมชาติ (carrying capacity) และ ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน (Local participation) และ ความต้องการของชุมชน (Local needs)
  2. กระจายผลประโยชน์สู่ท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม (Equity)
  3. มอบประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว (Quality of experience)
  4. มีการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากร และวิถีชีวิต (Education and understanding)
  5. มีการออกแบบสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับท้องถิ่นและใช้วัสดุในท้องถิ่น (Local architecture and local material)
  6. มีการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสู่แผนพัฒนาระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ (Integration of sustainable tourism to local, regional and national plans)
  7. มีการจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ (Information and monitoring)

ในปัจจุบัน มีหลายสถาบันการศึกษาได้เปิดสอนหลักสูตรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น นอกเหนือจากหลักสูตรการท่องเที่ยวทั่วไปที่มีอยู่เดิมแล้ว สืบเนื่องมาจากที่ผู้คนเริ่มมีความใส่ใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษาในประเทศจึงมีการเปิดสอนทั้งหลักสูตรปริญญาตรี และหลักสูตรปริญญาโท เช่น

  1. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี คณะศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาคบริการและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Bachelor of Arts, Sustainable Hospitality and Tourism Management)
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Master of Arts, Sustainable Tourism Management)
  3. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชน (Master of Science Program in Community Ecotourism Management)

ถึงแม้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่เคยสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาลนั้นต้องต้องหยุดชะงัก หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงชั่วคราวบ้าง ถาวรบ้าง ผู้ประกอบการหลายรายจำต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด แต่ความหวังที่จะให้ธุรกิจท่องเที่ยวนั้นกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ก็ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม และมีแนวโน้วที่ดีขึ้นตามลำดับ แม้จะต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร ในการเรียกความเชื่อมั่นและสร้างความน่าดึงดูดใจให้แก่นักท่องเที่ยว โดยหลักสูตรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะยังคงเป็นหนึ่งในทางเลือกทางการศึกษา ที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว และเป็นหนึ่งในทางออกสำหรับการท่องเที่ยวที่สามารถดำรงรักษาให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ความสวยงามของประเทศไทยให้คงอยู่ควบคู่ไปกับธุรกิจการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

ที่มา:
https://www.adt.or.th
http://academic.swu.ac.th
http://www.graduate.cmru.ac.th
https://sites.google.com/site/ecotourismbybuzz/
http://www.fem.psu.ac.th

หัวข้อที่น่าสนใจ