PTT Group Sharings
07 ตุลาคม 2564

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy

รู้หรือไม่ ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย อาจถูกแก้ไขด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน?

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ไทยมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 2 ล้านตัน / ปี และในช่วงโควิด-19 มีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอีก 40% จากการบริการ Food Delivery รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งที่มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค ส่งผลต่อการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ดังนั้น หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหลักการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นของเสีย ของหมดอายุ หมุนเวียนกลับมาใช้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยหลัก Make > Use > Return แทนที่แนวคิดแบบเดิมอย่าง Linear Economy ที่เน้นการใช้แล้วทิ้ง (Make > Use > Dispose)

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ให้ความสำคัญ กับการลดปริมาณขยะพลาสติกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET และ rHDPE ซึ่งพลาสติกทั้งสองชนิดนี้เป็นพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น

rPET (Recycled polyethylene terephthalate) หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า ‘ขวดเพ็ต’ หรือ ‘ขวดพีอีที’ เป็นพลาสติกที่นิยมใช้ผลิตเป็นขวดบรรจุเครื่องดื่มชนิดต่างๆ รวมไปถึงกล่องพลาสติกสำหรับใส่อาหาร ข้อดีของขวดเพ็ต คือสามารถรีไซเคิลได้ 100% แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง จากการศึกษาพบว่า การรีไซเคิลขวดเพ็ต เป็นกระบวนการที่สร้างความยั่งยืนมากกว่าการเลือกใช้พลาสติกที่ทำมาจากพืช โดยข้อมูลงานวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างพลาสติกแบบ rPET กับพลาสติกที่ทำจากพืช (Polylactic acid: PLA) ซึ่งสารตั้งต้นในการทำ PLA ส่วนมากมาจากข้าวโพด ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากการปลูกและดูแลแปลงข้าวโพด ซึ่งทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้มากกว่า รวมถึงมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าแต่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และสุดท้ายก็ยังแตกตัวกลายเป็น Micro Plastic อยู่ดี

ส่วนพลาสติกแบบ rHDPE(Recycle high density polyethylene) เป็นวัสดุผลิตพลาสติกที่มีสีขุ่นหรือว่าสีทึบ เช่น พวกขวดน้ำดื่มชนิดขุ่น, ขวดนม, ถุงพลาสติก, ถังน้ำ,กระปุกยา, แกลลอน, ขวดแชมพู มักนิยมใช้ขวดจาก HDPE เนื่องจากมีความเหนียวและทนทานกว่า PET นั่นเอง แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติในการรีไซเคิลได้หลายครั้งเช่นเดียวกัน

นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกให้รีไซเคิลได้บ่อยขึ้นแล้ว GC ได้ตั้งเป้ายกเลิกการผลิตพลาสติกแบบ SIngle Used Plastic ภายใน 5 ปี เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และเป็นก้าวสำคัญที่แสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทย

อ้างอิง
https://www.the101.world
https://sustainability.pttgcgroup.com
https://industry-media.com

หัวข้อที่น่าสนใจ