PTT Group Sharings
19 ตุลาคม 2564

Zero Waste แนวทางลดขยะให้เป็นศูนย์

ในทุกกิจกรรมการใช้ชีวิตของคนปัจจุบัน ล้วนก่อให้เกิดการสร้างขยะปริมาณมหาศาล สิ่งที่จะช่วยให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลงได้ในแบบที่คนไทยคุ้นเคย คุ้นหูกันดี เช่น การแยกขยะ การรีไซเคิล แต่ในอีกหลายมุมของการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ อาจต้องใช้หลากหลายแนวคิดเพื่อบูรณาการ หนึ่งในนั้นคือ แนวทางการลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Waste

Zero Waste คือแนวคิดที่ต้องการลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่สร้างขยะเลย หัวใจหลักคือการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นที่การลดปริมาณการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ก่อนที่จะนำขยะเหล่านั้นไปกำจัด เพื่อทำให้ของเหลือใช้หรือขยะเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุด แนวทางสำคัญดังกล่าวประกอบด้วย

Reduce
คือ ลดการใช้ ทั้งลดปริมาณการใช้ ลดจำนวนครั้งที่ใช้ ใช้ให้น้อยลง หรือใช้ไม่บ่อยจนเกินไป เช่น การลดใช้ของแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

Reuse
คือ ใซ้ซ้ำ ทั้งการเลือกใช้สิ่งของหรือวัสดุที่มีอยู่แล้ว นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก หรือเลือกใช้ถุงผ้า แก้วน้ำส่วนตัวที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง รวมไปถึงการส่งต่อสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ให้กับผู้คนอื่นๆ ที่สร้างประโยชน์ต่อได้

Recycle
คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ การแปรสภาพโดยการนำขยะมาคัดแยก เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ อโลหะ ออกจากขยะประเภทอื่น ผ่านขั้นตอนและกระบวนการเพื่อออกมา กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ รวมถึงการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ เช่น ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ผลิตแก๊สชีวภาพ

ปัญหาส่วนหนึ่งในการกำจัดขยะของประเทศไทย คือการจัดการขยะที่ปลายทางมากกว่าต้นทาง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการจัดการได้น้อยกว่า เนื่องจากเมื่อนำขยะจากหลายแหล่งมารวมกัน ต้องใช้ทั้งเวลา แรงงาน และต้นทุนในการคัดแยกขยะ ในทางกลับกัน หากมีการคัดแยกขยะที่ดีตั้งแต่ต้นทาง และการจัดเก็บขยะตามที่คัดแยกไว้ ก็จะทำให้กระบวนการกำจัดขยะนั้นง่ายและเร็วขึ้น และเมื่อนำแนวคิด Zero Waste มาใช้ร่วมด้วย ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ได้มีแฟลตฟอร์มในการจัดเก็บข้อมูลขยะพลาสติก ที่เรียกว่า Plastic Waste Platform ไว้รวบรวมข้อมูลขยะพลาสติกจากแหล่งผลิตในแต่ละโรงงานทั้งของ IRPC และลูกค้าอื่น เริ่มตั้งแต่การเก็บขยะพลาสติกผ่านเครือข่ายของเสียจากกระบวนการผลิต (Post Industrial Recycle: PIR) และพลาสติกที่ผ่านการใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Post-Consumer Recycle) ขั้นตอนการคัดขยะพลาสติกและส่งไปเข้ากระบวนการ Gasification/ Pyrolysis หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ โดยขยะพลาสติกจะถูกนำไปรีไซเคิล หรือ Upcycle เพื่อทำเป็นวัสดุใหม่ ทำให้ Waste Polymer หรือของเสียออกจากกระบวนการผลิตน้อยที่สุด หรือการนำ Waste Polymer ที่ยังเหลืออยู่ มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์เนม และกล่องจิวเวลรี่ การใช้น้ำมันจากขยะพลาสติก แปรรูปกลับมาเป็นน้ำมันดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการสร้างระบบแก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบเบ็ดเสร็จเพื่อร่วมกันบริหารจัดการขยะพลาสติกจากแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการทำแผนแม่บทการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ให้บรรลุสู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

อีกหนึ่งโครงการที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้ดำเนินความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง นั่นคือวิสาหกิจชุมชน ธนาคารขยะออมทรัพย์บ้านไผ่ หมู่ 1 ตำบลหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 โดยดำเนินกิจกรรมการรับซื้อขยะในชุมชนมาแปรรูปเป็นสินค้าแบบครบวงจร สนับสนุนการปลูกพืชและสมุนไพรเพื่อนำออกจำหน่ายและนำไปแปรรูปเพื่อต่อยอดการสร้างมูลค่าให้ผลผลิต โดยมีจุดประสงค์ให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เป็นหมู่บ้านต้นแบบของชุมชนปลอดขยะ ที่สามารถจัดการขยะในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างนิสัยการออม และจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนบ้านไผ่ในการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในธนาคารขยะชุมชน การก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะชุมชนบ้านไผ่ การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะในแต่ละประเภทให้กับชุมชน และที่สำคัญคือการสร้างรายได้จากขยะที่ไม่มีค่าให้กลายเป็นสิ่งล้ำค่า มีราคา เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทฯ มุ่งมั่นและตั้งใจทำมาโดยตลอด

ซึ่งผลจากโครงการนอกจากช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะสะสมในชุมชน สร้างมาตรการและระบบการจัดการขยะใหม่ที่มีประสิทธิภาพระยะยาว และสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้สมาชิกชุมชนอย่างยั่งยืน

อ้างอิง

หัวข้อที่น่าสนใจ